การค้ามนุษย์ หมายถึง การกระทำต่อบุคคลอื่นโดยเจตนา เพื่อแสวงหาประโยชน์ โดยมิชอบ สำหรับตนเองและผู้อื่น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ ก็ตาม ซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ จัดหา ซื้อขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยว กักขัง จัดให้อยู่อาศัยหรือ การรับไว้ซึ่งบุคคลใด และ ด้วยวิธีการข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อำนาจ โดยมิชอบ หรืออาศัยความอ่อนด้อยทางประสบการณ์ หรือความรู้ของบุคคล หรือการให้หรือรับเงิน หรือผลประโยชน์อย่างอื่น เพื่อให้ได้รับความยินยอมของผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลบุคคลนั้น
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551
ประเทศไทยมีความเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ใน 3 ลักษณะ คือ
1. ประเทศต้นทางคือ ประเทศที่ทีการส่งเด็กและหญิงไปค้ายังต่างประเทศ
2. ประเทศทางผ่าน คือประเทศที่ใช้เป็นเส้นทาง ผ่านของการนำเด็ก และหญิงไปค้ายังประเทศ อื่นๆ
3. ประเทศปลายทาง คือ ประเทศที่มีการนำเด็กและหญิงเข้ามา ค้าหรือแสวงหาผลประโยชน์ หรือมีการล่วงละเมิดสิทธิ
นายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคุณบรอนที มูลส์ อัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ได้ร่วมกันเปิดตัวคู่มือสำหรับเหยื่อการค้ามนุษย์ เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์
"ออสเตรเลียมีพันธกิจในการต่อต้านการค้ามนุษย์ และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในออสเตรเลียอย่างเพียงพอ นอกจากนี้แล้ว เรายังให้ความช่วยเหลือเมื่อพวกเขาเดินทางกลับถึงบ้านเกิด เพื่อให้พวกเขาสามารถปรับตัวกลับเข้าสู่สังคมได้" คุณบรอนทีกล่าว
คู่มือดังกล่าวนับเป็นความสำเร็จของโครงการนำร่องระดับภูมิภาค ว่าด้วยรับหญิงไทยที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์จากประเทศออสเตรเลียกลับสู่ประเทศไทย โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทุนจำนวน 472,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 11.6 ล้านบาท) จากสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลีย (AusAID) ดำเนินโครงการโดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) โดยมีพันธมิตรหลักฝ่ายไทย ประกอบด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ อาทิเช่น กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมูลนิธิผู้หญิง ทั้งนี้ ทางฝ่ายออสเตรเลียก็มีความพยายามร่วมกันจากทุกหน่วยงานในโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็น AusAID ตำรวจแห่งสหพันธรัฐออสเตรเลีย กระทรวงตรวจคนเข้าเมืองและสัญชาติ รวมถึงสำนักงานเพื่อผู้หญิงในกรุงแคนเบอร์รา
จุดมุ่งหมายของโครงการดังกล่าวคือ การวางกรอบปฏิบัติการด้านความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและออสเตรเลีย เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงไทยที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในออสเตรเลียกลับสู่ประเทศไทย ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นประเทศแรกที่ดำเนินงานร่วมกันในโครงการนำร่องนี้ อันเนื่องมาจากกรอบกฎหมายและการดำเนินงานของเจ้าหน้าตำรวจที่มีอยู่แล้ว รวมถึงความมุ่งมั่นทุ่มเทของหน่วยงานราชการ และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่เข้มแข็งในการให้ความช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์
โมนิก ฟิสโน หัวหน้าสำนักงานประจำประเทศไทยของ IOM กล่าวว่า คู่มือชุดดังกล่าวประกอบด้วย "คู่มือคนกลับบ้าน" ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยมูลนิธิผู้หญิง และ "เมื่อฉันกลับบ้าน" ได้รับการจัดทำขึ้นด้วยความพยายามร่วมกัน ในอันที่จะช่วยให้เหยื่อค้ามนุษย์ได้มีความหวังและศักดิ์ศรีขึ้นมาอีกครั้ง รวมทั้งจะได้เข้าถึงหน่วยงานต่างๆ ที่พร้อมให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน หรือหน่วยงานระหว่างประเทศต่างๆ ในประเทศไทย
อัครราชทูตออสเตรเลียกล่าว. "การให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อ นับว่ามีความสำคัญในลำดับต้นๆ ในการต่อต้านการค้ามนุษย์ เราหวังว่าคู่มือชุดนี้จะช่วยให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์กลับบ้านได้อย่างปลอดภัย และมอบความหวังใหม่ๆ ในอนาคตให้แก่พวกเขา".